ข่าวประชาสัมพันธ์
19 พฤศจิกายน "วันส้วมโลก (World Toilet Day)"
19 พฤศจิกายน 🚽🌎 วันส้วมโลก (World Toilet Day)
วันส้วมโลก (World Toilet Day) จะตรงกับวันที่ 19 พฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งกำหนดโดยองค์การส้วมโลก หรือ World Toilet Organization เพื่อใช้เป็นจุดเริ่มต้นการรณรงค์กิจกรรมต่าง ๆ ทั่วโลก โดยให้ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีสุขอนามัยในการใช้ห้องส้วมตระหนักถึงความสำคัญของความสะอาดของห้องน้ำห้องส้วมให้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็เป็นการกระตุ้นจิตสำนึกให้ผู้คนที่ยังต้องทนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากสุขอนามัยได้พยายามปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตในด้านการขับถ่ายที่มีอนามัยมากขึ้น
ทั้งนี้ เนื่องจากห้องน้ำไม่เพียงแต่เป็นพื้นที่ที่เราใช้ทำความสะอาดร่างกาย ล้างหน้า แปรงฟัน ขับถ่าย หรืออาจรวมถึงการซักล้างเสื้อผ้า แต่ยังเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของเชื้อโรคมากมาย เราจึงควรให้ความใส่ใจการชำระล้างพื้นห้องน้ำ เครื่องสุขภัณฑ์ และอุปกรณ์ใช้สอยภายในห้องน้ำให้อยู่ในสภาพที่ส่งเสริมอนามัยของสมาชิกทุกคนภายในบ้านด้วย
และที่สำคัญภายหลังจากเข้าห้องน้ำแล้วควรล้างมือทุกครั้ง เนื่องจากบางทีเราไม่อาจเลี่ยงต่อการใช้ห้องน้ำสกปรก มีกลิ่นเหม็นอับชื้น มีคราบดำฝังแน่นบนผนัง สุขภัณฑ์ และพื้นได้ ซึ่งเชื้อโรคต่าง ๆ เหล่านี้อาจก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เช่น เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการอักเสบของช่องคลอดจากการใช้น้ำชำระล้างหลังขับถ่าย, เชื้อโรคจากสุขภัณฑ์จากคราบเศษอุจจาระ ปัสสาวะ ที่มากับฝอยละอองน้ำซึ่งฟุ้งกระจายขึ้นมาเมื่อทำการกดชักโครก รวมทั้งยังมีการหยิบ จับ แตะ สัมผัสอุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องน้ำอีกด้วย
ข้อมูลการพัฒนาส้วมสาธารณะในประเทศไทยปี 2562 – 2565 จำนวน 186,041 แห่ง ได้ดำเนินการสุ่มตรวจประเมิน 99,814 แห่ง พบว่า ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน (HAS) จำนวน 66,907 แห่ง หรือ คิดเป็น 67.03% ส่วนผลสำรวจอนามัยโพลของประชาชนต่อการใช้ส้วมสาธารณะ ระหว่างวันที่ 14 - 21 ตุลาคม 2565 จำนวน 3,716 คน พบว่า ส้วมสาธารณะที่ประชาชนเห็นว่าควรปรับปรุงมากที่สุด คือ ส้วมในตลาดสด 68.68% รองลงมา คือ สวนสาธารณะ 39.85% และส้วมริมทางสาธารณะ 38.48% สำหรับส้วมสาธารณะที่สะอาดที่สุด คือ ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า 68.46% รองลงมา คือ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง 55.30% และโรงพยาบาล 35.82% โดยเหตุผลในการเลือกใช้ส้วมสาธารณะ คือ ความสะอาด ความปลอดภัย และความสะดวก ดังนั้น วันส้วมโลกปีนี้ กรมอนามัยจึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการทุกแห่งร่วมกันพัฒนาและปรับปรุงส้วมสาธารณะของไทยให้ได้มาตรฐาน ซึ่งนอกจากจะสร้างสุขอนามัยที่ดี ลดโรคไม่พึงประสงค์แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยนอกจากนี้ จากการสำรวจพบว่า ทุก ๆ วัน มีเด็กในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจำนวนกว่า 4,000 ราย เสียชีวิตอันเนื่องมาจากความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการขาดสุขอนามัยที่ดี นี่จึงเป็นหลักฐานที่สำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าเราควรหันมาใส่ใจสุขอนามัยของห้องน้ำ ห้องส้วมมากขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดีและห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บนั่นเอง "เนื่องจากปัจจุบันนี้ เจ้าของส้วมสาธารณะส่วนใหญ่ ได้มการพัฒนาส้วม รวมทั้งมีการบริหารจัดการให้ส้วมสะอาด เพียงพอกับผู้มาใช้บริการที่ดีขึ้น ดังนั้นประชาชนที่ใช้บริการจึงต้องให้ความร่วมมือในการรักษาความสะอาดของส้วม และที่สำคัญคือต้องมีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกต้อง คือ
1) ไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมแบบนั่งราบ
2) ไม่ทิ้งวัสดุอื่นใดนอกจากกระดาษชำระลงในโถส้วม
3) ราดน้ำหรือกดชักโครกทุกครั้งหลังการใช้ส้วม
4) ล้างมือทุกครั้งหลังการใช้ส้วม ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดีของทุกคน”
ข้อมูล : Fb : แพทยสภา , https://www.thaihealth.or.th , กระทรวงสาธารณสุข
19 พฤศจิกายน 2567
3